ศูนย์ศึกษาการเมืองท้องถิ่นอีสาน

http://tomsarayoot.siam2web.com/

1. โครงการ การเฝ้าระวังการเมืองและนโยบายในพื้นที่อีสาน     (ISAN Politics and Policy Watch)  

 ความสำคัญและที่มาของปัญหาที่ทำการวิจัย 

 

 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ ที่รู้จักกันในนามภาคอีสานเป็นภาคที่กล่าวได้ว่าเป็นที่สุดในหลายเรื่องของประเทศไทย อาทิ เป็นภาคที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ที่สุด มีจำนวนจังหวัดมากที่สุด มีจำนวนประชากรมากที่สุด เป็นต้น นอกจากนั้น ภาคอีสานยังมีความโดดเด่นมีเอกลักษณ์และ

อัตลักษณ์ของตนเองในหลายๆ เรื่อง กระนั้น ภาคอีสานก็มักจะเป็นภาคที่ถูกลืม เป็นภาคที่ผู้คนมักจะจดจำได้ในไม่กี่เรื่อง นั่นเป็นเพราะ องค์ความรู้ที่เกี่ยวกับอีสานยังมีการศึกษาในวงจำกัด จึงทำให้ภาพลักษณ์ของอีสานถูกสร้างจากฐานข้อมูลจำนวนจำกัด และบ่อยครั้งเป็นข้อมูลที่ผิวเผินจึงส่งผลให้การรับรู้ของความเป็นอีสานในสายตาของคนทั่วไป มีลักษณะจำกัดและผิวเผินตามไปด้วย เช่น เป็นภาคที่มีการซื้อเสียงมาก และประชาชนถูกชักจูงได้ง่าย รวมถึง รับรู้เพียงว่าภาคอีสานไกลมาก ร้อนมาก แร้นแค้น ยากจนมาก ผู้คนขาดสารอาหารและดั้งหัก เป็นต้น

ทั้งนี้ การเมืองและนโยบายสาธารณะทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่นล้วนส่งผลกระทบต่อประชาชนในอาณาบริเวณต่างๆ ของการใช้ชีวิต (Areas of live) ไม่ว่าจะเป็นอากาศที่หายใจ การรับประทานอาหาร การเล่าเรียน การเดินทาง การทำงาน การพักผ่อนหย่อนใจ การดูแลสุขภาพอนามัย หรือแม้แต่การนับถือศาสนา ซึ่งแน่นอนว่าการได้รับผลกระทบทั้งหลายเหล่านั้นเกิดขึ้นในทุกพื้นที่ กล่าวคือ ไม่มีพรมแดนใดปลอดจากเรื่องการเมืองและนโยบายสาธารณะไปได้ รวมไปถึง พื้นที่อีสานด้วย ที่กล่าวได้ว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองและนโยบายสาธารณะมาโดยตลอดและอย่างเข้มข้น ทั้งในแง่ที่เป็นภูมิภาคที่เป็นตัวแปรสำคัญทางการเมือง จึงมักกลายเป็นผู้กระทำและผู้ถูกกระทำทางการเมืองอยู่เสมอ และในแง่ที่เป็นทั้งผู้ผลักดันและผู้ที่เป็นเหยื่อจากนโยบายสาธารณะ

อย่างไรก็ตาม กระแสการพัฒนาในปัจจุบันใส่ใจต่อเรื่องบทบาทของกลไกทางสังคมหรือภาคประชาชนต่อเรื่องการเมืองและนโยบายสาธารณะที่มากและกว้างขวางขึ้นภายใต้สังคมที่กลายเป็นพหุสังคม (Plurality society) ทำให้กระบวนทัศน์การเมืองของชนชั้นนำ (Elitism) และนโยบายจากบนลงล่าง (Top-down policy) ถูกท้าทาย ในทางตรงกันข้าม มีการเสนอให้มีการส่งเสริมการเมืองภาคประชาชน และนโยบายจากล่างสู่บน (Bottom up policy) มากขึ้น การเปลี่ยนผ่านกระบวนทัศน์ดังกล่าว เกิดขึ้นในประเทศไทยด้วย ทำให้การพัฒนากลไกทางสังคมหรือภาคประชาชนต่อเรื่องการเมืองและนโยบายสาธารณะมีความสำคัญ เพื่อส่งเสริมการเติบโตของภาคประชาชน ติดตามนโยบายจากบนลงล่างมิให้เป็นนโยบายแบบตามอำเภอใจ และวางรากฐานการเสนอนโยบายจากล่างสู่บน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับภูมิภาคอีสานที่มักกลายเป็นผู้กระทำและผู้ถูกกระทำทางการเมืองและเป็นผู้ผลักดันและผู้ที่เป็นเหยื่อจากนโยบายสาธารณะอยู่เสมอดังกล่าวข้างต้น

ด้วยเหตุผลที่ได้กล่าวไปนั้น การริเริ่มโครงการเฝ้าระวังการเมืองและนโยบายในอีสานจึงมีความจำเป็น โดยจะเป็นการสร้างกลไกทางสังคมหรือภาคประชาชนในการติดตามเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบจากประเด็นการเมืองและนโยบายสาธารณะที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับพื้นที่ภาคอีสาน ไม่ว่าจะเป็นด้านโครงสร้างพื้นฐาน เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม หรือแม้แต่ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยภายหลังจากเก็บรวบรวมข้อมูลข่าวสารการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญและผลกระทบทางการเมืองและนโยบายสาธารณะในอีสานแล้ว จะดำเนินการสื่อสารต่อสาธารณะ เพื่อกระจายข้อมูลข่าวสาร สร้างความรู้ ความเข้าใจ ความตระหนัก ตลอดจนความเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและนโยบายสาธารณะที่กระทบต่อสิทธิและความเป็นอยู่ของผู้คนรวมถึงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในอีสาน รวมไปถึง จะดำเนินการสร้างข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาการเมืองและกระบวนการนโยบายสาธารณะที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาในอีสานอย่างแท้จริงและยั่งยืน โดยโครงการเฝ้าระวังการเมืองและนโยบายในอีสานนี้จะดำเนินงานภายใต้ศูนย์ศึกษาการเมืองท้องถิ่นอีสาน และมีขอบเขตของการศึกษาคือ พื้นที่อีสานกลาง ซึ่งครอบคลุมถึงจังหวัดขอนแก่น จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดมหาสารคาม และจังหวัดกาฬสินธุ์

2. “สภาเยาวชนเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น”

        1.ที่มาและความสำคัญ

ภายหลังการกระจายอำนาจที่มากขึ้น บทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการกำหนดและดำเนินนโยบายสาธารณะมีอย่างกว้างขวาง ครอบคลุมมากกว่าครึ่งหนึ่งของบริการพื้นฐานที่ประชาชนในท้องถิ่นหนึ่งๆ พึงจะได้รับ ทั้งที่เป็นบทบาทโดยตรงที่กฎหมายระบุให้อำนาจหน้าที่ไว้และที่เป็นบทบาทในฐานะที่ไปเป็นหน่วยงานหนุนเสริมหรือร่วมมือกับหน่วยงานอื่นในการให้บริการ

ทั้งนี้ พร้อมไปกับความกว้างขวางของบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการกำหนดและดำเนินนโยบายสาธารณะนั้น กระแสธรรมาภิบาลและประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม รวมถึง แบบปรึกษาหารือก็เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางเช่นกัน ซึ่งกระแสดังกล่าวผลักให้การกำหนดและดำเนินนโยบายของท้องถิ่นต้องคำนึงถึงความโปร่งใสและบทบาทของประชาชนในท้องถิ่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

กระนั้นก็ดี ในทางปฏิบัติกลับพบว่า หน่วยการปกครองและบริหารจัดการขนาดเล็กนี้ ยากที่จะถูกตรวจสอบโดยองค์กรใดองค์กรหนึ่งได้อย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ ทำให้การดำเนินนโยบายที่ขาดธรรมาภิบาล การมีส่วนร่วม และการปรึกษาหารือที่แท้จริงเกิดขึ้นทุกหัวระแหง และยากที่จะปฏิเสธได้ เช่นนี้ การแสวงหากลไกทางสังคมเพื่อเข้ามาตรวจสอบท้องถิ่นจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อร่วมพัฒนาให้หน่วยการปกครองและการจัดบริการสาธารณะในรูปนโยบายต่างๆ ซึ่งมีขนาดเล็กนี้ สามารถเป็นความหวังของการแก้ปัญหาและการพัฒนาในยุคสมัยใหม่ได้ 

อย่างไรก็ตาม ความอ่อนแอของการเมืองภาคพลเมืองในระดับของการตรวจสอบการเมืองและการบริหารงานในท้องถิ่นของตนเองถูกตั้งคำถามมาโดยตลอด เคียงคู่กับประวัติศาสตร์การปกครองท้องถิ่นของไทย โดยเฉพาะในยุคสมัยใหม่ที่มนุษย์กลายเป็นมนุษย์เศรษฐกิจมากกว่ามนุษย์การเมือง กล่าวคือ ดิ้นรนในปัญหาความไม่พอมีพอกินหรือความไม่พอเพียงของตน มากกว่าการสนใจเรื่องสาธารณะ หรือ การเข้าไปข้องเกี่ยวกับพื้นที่ทางการเมือง แม้นว่าพื้นที่เหล่านั้นจะถูกเปิดมากขึ้นกว่าในอดีตมากก็ตาม ทั้งในแง่ของการเปิดให้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง และเปิดให้เข้ามาสู่เวทีการปรึกษาหารือ  (สะท้อนผ่านรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550) ทำให้เกิดอุปสรรคต่อการแสวงหากลไกทางสังคมที่มีพลังและความต่อเนื่องเพื่อเข้ามาตรวจสอบการเมืองและการบริหารงานท้องถิ่น 

พร้อมกันนั้น สำหรับการแสดงบทบาทของเยาวชนในฐานะพลเมืองก็ถูกตั้งคำถามถึงเช่นกัน ทั้งในแง่ของความหวังและความน่าเป็นห่วง กล่าวคือ ความหวังว่าจะเป็นพลังบริสุทธิ์ในการพัฒนาการเมืองและการบริหารของประเทศทั้งระดับชาติและท้องถิ่น และความน่าเป็นห่วงว่าจะหลงใหลไปกับโลกหรรษาและบันเทิง จนลืมใช้ปัญญาและพลังอย่างสร้างสรรค์ 

                จากข้างต้น มิสามารถจะกล่าวโทษใครได้อย่างเจาะจงแต่อย่างใด กล่าวคือ เยาวชนมีทั้งที่ตื่นตัวแต่ขาดเวทีที่เหมาะสม และมีทั้งที่หลับใหล ทว่า สามารถตื่นขึ้นมาได้ หากได้รับการกระตุ้นที่ดี ดังนั้น แนวคิดในการสร้างสภาเยาวชนจึงเกิดขึ้น บนฐานความเชื่อมั่นที่ว่าสภาเยาวชนน่าจะสามารถเป็นทั้งเวทีและยากระตุ้นที่ดีดังกล่าวได้ ด้วยเหตุนี้ จึงได้ริเริ่มโครงการวิจัยนี้ขึ้น เพื่อทดลองดึงพลังเยาวชนที่มีอยู่แล้ว ให้ออกมาสร้างสรรค์ และรับผิดชอบต่อสังคม โดยเฉพาะท้องถิ่นที่เยาวชนอาศัยหรือคลุกคลีอยู่ให้มากกว่าที่เป็นอยู่ ผ่านเวทีการแสดงออกที่เหมาะสมอย่างสภาเยาวชน 

                ทั้งนี้ โครงการนี้ พยายามปรับกรอบการศึกษาการตรวจสอบโดยสังคม (Social Audit) ของ CIET International (Community Information and Epidemiological Technology) มาใช้ (มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย, 2548) โดยให้ภาคประชาสังคมในลักษณะของสภาเยาวชนเป็นผู้ตรวจสอบการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อให้เกิดการบูรณาการการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งการตรวจสอบที่นำไปสู่การพัฒนาดังกล่าว อยู่ในรูปแบบของการมีคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ หรือคณะทำงานลงไปเก็บรวบรวมข้อมูล (หลายระดับ) พร้อมทั้งวิเคราะห์ข้อมูลขั้นต้น แล้วนำมาเสนอในที่ประชุมสภา โดยที่สมาชิกสภา จะขบคิดหรือวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสุดท้ายร่วมกัน ก่อนที่จะจัดทำรายงานข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเสนอต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อการปรับปรุงการดำเนินนโยบาย ซึ่งกระบวนการติดตามการปรับปรุงการดำเนินนโยบายจะต้องเกิดขึ้น และพร้อมที่จะมีการทวงถามภายในระยะเวลาและเงื่อนไขอื่นๆ ที่เหมาะสม

                อนึ่ง โครงการนี้เป็นการสานต่อโครงการนำร่องสภาเยาวชนเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยสถาบันพระปกเกล้า ปีงบประมาณ 2552 โดยดำเนินการภายใต้ศูนย์ศึกษาการเมืองท้องถิ่นอีสาน วิทยาลัยการเมืองการปกครอง อันเป็นการขยายผลเพื่อจะนำไปสู่การสังเคราะห์แนวคิด ทฤษฎี โดยจะส่งผลต่อการนำไปประยุกต์ใช้กับการพัฒนาท้องถิ่นให้เกิดความยั่งยืนในภาพรวมต่อไป

Advertising Zone    Close

Online: 1 Visits: 27,308 Today: 3 PageView/Month: 5

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...