ศูนย์ศึกษาการเมืองท้องถิ่นอีสาน

http://tomsarayoot.siam2web.com/

ผลงาน(Root) 20091217_58242.gif 

-   จัดทำโพลการเลือกตั้งทั่วไป ปี 2550 โดยสำรวจผลการเลือกตั้งล่วงหน้าในพื้นที่ภาคอีสาน ครอบคลุม 120 อำเภอ 19 จังหวัด 52 เขตเลือกตั้ง (6,527 กลุ่มตัวอย่าง)

-    เป็นที่ปรึกษาดำเนินโครงการสำรวจความพึงพอใจต่อการให้บริการแก่ประชาชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดมหาสารคามและกาฬสินธุ์

-    ดำเนินการตรวจสอบทางสังคม (Social Audit) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผ่านกลไกการขับเคลื่อนของศูนย์ฯ กล่าวคือ สภาเยาวชนเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น โดยความสนับสนุนจากสถาบันพระปกเกล้า

----------------------------------------------------------------------------------------------------

 

ชุดกิจกรรม: หนังสือประกอบภาพสำหรับเด็ก

ภูมิปัญญาชาวบ้านเพื่อการพัฒนาความพร้อมทางอารมณ์ 

ของเด็กปฐมวัย

วัยเยาว์ ผึ่งผาย

ชุดกิจกรรมที่ 1. ส่งเสริมการควบคุมตนเอง


1.1 สอนไม่ให้โกรธ ฉุนเฉียว หรือโมโหง่าย 

ภูมิปัญญาชาวบ้าน 

1) “อย่าได้เว้าฟู่ๆ ขวัญเผิ่นเป็นกะดัด อย่าได้มีโทโสใส่เขาชมฮ้าย อย่าได้เมามัวต้านเตียนขวัญผู้อื่นโทษเผิ่นมีท่อก้อยอย่าเตียนเว้าท่อโป้มือ” (ผญา)

หมายถึง อย่าพูดนินทาว่าร้ายผู้อื่น อย่ามีใจโกรธผู้อื่น อย่านินทาราติเตียนผู้อื่น โทษของผู้อื่นเท่านิ้วก้อย อย่าได้ขยายความให้เท่านิ้วหัวแม่มือ

  ข้อความนี้เป็นคำสอนของย่าในเรื่อง ย่าสอนหลาน สาระสำคัญคือไม่ให้นินทาว่าร้ายหรือมีใจโกรธเคืองผู้อื่น ไม่พูดถึงความบกพร่องของผู้อื่นเกินความเป็นจริง ไม่ว่าเขามีความผิดหรือบกพร่องเพียงใดก็ไม่ควรพูดถึง อย่ากล่าวขยายความเพิ่มเติมความผิดของผู้อื่น โดยเปรียบเทียบโทษของเขาเท่านิ้วก้อย อย่าขยายให้ใหญ่ขึ้นเท่านิ้วหัวแม่มือ

 


2) “ไผเคยโมโหฮ้าม ให้ถิ่มลายไปสาก่อน ยักษ์มารซ่อนอยู่ฮั่น ให้ไลถิ่ม   ห่างไกลสาเด้อ”

หมายถึง ใครเคยเป็นคนโมโหร้ายให้เลิกเสียเพราะว่าเวลาโมโหจะเหมือนยักษ์มารไม่ดี

3) “โมโห โทโสนี่ พาโตตกต่ำ ให้ค่อยคิด ค่อยปากต้าน คำคล้อยให้ม่วนหู”

หมายถึง ความโกรธจะทำให้เราพูดไม่ดีอาจทะเลาะกับคนอื่นได้ให้ระงับโกรธก่อนค่อยพูด)

 

  

  

  

  

1.1 สอนไม่ให้ใช้กำลัง/รังแก 

ภูมิปัญญาชาวบ้าน 

1)     ตำนานปลาค่อขอฝน ในอดีตกาลพระโพธิสัตว์ เสวยพระชาติเป็นปลาค่อ(ปลาช่อน)

แต่พระองค์ไม่เคยกินปลาเล็กสัตว์เล็กเคยกินตระไคร้น้ำและสาหร่ายอย่างอื่นแทน ครั้นฝนแล้ง น้ำแห้ง

ปลาอื่นกำลังจะตาย พระโพธิสัตว์จึงโผล่ขึ้นมาจากเปลือกตมแหงนมองดูฟ้า แล้วตั้งสัจจะวาจาว่า “ดูกร

เมฆฝน แม้ข้าพเจ้าก็มิได้กินปลาและบังเบียดปลา บัดนี้เพื่อนร่วมชาติและตัวข้าพเจ้ากำลังทุกข์หนัก

และกำลังจะตายเพราะขาดน้ำ ด้วยอานุภาพ แห่งศีลบารมีขอฝนจงตกลง มาให้ชีวิต ชีวา แก่เราด้วย

เถิด” ครั้นจบสัจจะวาจาของพระโพธิสัตว์ ฝนก็ตกลงมาอย่างงดงาม ไม่มีฟ้าร้อง แลบ และฟ้าผ่าเลย


 

นิทานเรื่อง สี่สัตว์เพื่อนรัก

 

 

ครั้งหนึ่ง นานมาแล้วมีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งประกอบอาชีพล่าสัตว์ได้พากันไปล่า 

สัตว์ในป่าแห่งหนึ่งซึ่งเป็นที่อยู่ของเหยี่ยวผัวเมียซึ่งมีลูกน้อย 2 ตัว  ราชสีห์  พญานกออก  และเต่าซึ่งอาศัยอยู่ในสระในป่าแห่งนั้นสัตว์ทั้งสี่ผูกมิตรเป็นเพื่อนกันและสัญญากันว่าถ้าใครได้รับอันตรายจะช่วยเหลือกัน  ขณะที่ชาวบ้านกลุ่มนั้นมาล่าสัตว์ทั้งวันก็ไม่ได้อะไรเลยจนค่ำจึงปรึกษากันว่าจะไม่กลับบ้านมือเปล่า จึงพากันไปนอนอยู่ใต้ต้นกระทุ่มซึ่งเป็นที่อยู่ของครอบครัวเหยี่ยว  พร้อมกับก่อไฟไล่ยุง แต่ควันไพกลับลอยขึ้นไปรมลูกนกเหยี่ยว  

มันพากันร้องเซ่งแซ่ “เสียงลูกนกนี่ ดีเลยหิวจนตาลายแล้ว ปีนขึ้นไปเอาลูกนกมาปิ้งกันเถอะ”พรานบอก แม่เหยี่ยวเห็นว่าลูกกำลังมีอันตรายจึงบอกเหยี่ยวสามีให้บินไปขอความช่วยเหลื่อจากพญานกออก  พญานกออกบินมาช่วยเหลือทันทีมันมาเกาะอยู่ต้นไม้ใกล้กัน พอชาวบ้านถือคบเพลิงปีนขึ้นต้นไม้ใกล้จะถึงรังนกเหยี่ยว มันรีบบินลงในสระอมน้ำมาดับไฟ ทำอยู่อย่างนั้นหลายครั้งจนเหน็ดเหนื่อยตาแดงกล่ำเหยี่ยวเห็นพญานกออกเหนื่อยจึงรีบไปขอความช่วยเหลือจากเต่า เต่าขึ้นมาจากสระน้ำนำตมและสาหร่ายไปดับ กองไฟ แล้วหมอบอยู่พวกพรานเห็นเต่าขึ้นจากน้ำมาดับไฟจึงหันไปจับเต่าแทน ช่วยกันหาเถาวัลย์ และแก้ผ้านุ่งผูกเต่าไว้แต่เต่าตัวใหญ่แรงเยอะจึงถูกเต่าลากลงไปในน้ำเปียกไปตามๆกัน“พอเถอะพวกเรา ไม่ไหวแล้ว รอให้เช้าก่อนค่อยเอาลูกนกเถอะ” พวกพรานเหนื่อยนั่งพักก่อกองไฟขึ้นใหม่  คราวนี้แม่เหยี่ยวไปขอความช่วยเหลือจากราชสีห์ ๆ รีบมาเดินไปที่กองไฟของกลุ่มพรานๆ ตกใจวิ่งหนีไปคนละทิศคนละทาง  นกเหยี่ยว  พญานกออก  และเต่าได้มาขอบคุณกันและกันที่ช่วยเหลือนกเหยี่ยวไว้ ราชสีห์บอกว่า “ต่อไปนี้พวกเราต้องมีความสามัคคีกันและอยู่อย่างไม่ประมาท”สัตว์ทั้งหมดตกลงตามนั้นก่อนที่จะกลับไปที่อยู่ของตน

 

  

1.3 สอนไม่ให้ร้องไห้ง่าย/ขี้แย

 “เอาคนกล้าครองเมืองจั่งฮุ่ง คนขี้ย่านครองบ้านบ่ฮุ่งเฮือง” (ผญา) หมายถึง ให้คนเข้มแข็งปกครองบ้านเมืองจึงจะรุ่งเรือง ถ้าคนขี้ขลาดปกครองจะไม่รุ่งเรืองถ้าอยากเป็นหัวหน้าหรือเป็นเจ้านายจะต้องอดทน 

 

 

 

  

  

  

  

  

  

 

“เจ้าอย่ามัวนำให้ มันบ่อดีอยากอายเผิ่น ให้ไปหัวเราะเล่น นำเพื่อนหมู่เขา” หมายถึง “อย่าเอาแต่ร้องไห้ไม่ดีเลยหยุดร้องไห้แล้วไปเล่นกับเพื่อนจะได้หัวเราะอย่างสนุกสนาน”


 
 

 

 

 

คำผูกแขนเด็กน้อย (มรดกอีสาน)สร้างกำลังใจให้เด็ก

ศรี ศรี ฝ้ายเส้นนี้แม่นฝ้ายหมอเฒ่า องค์พระพุทธเจ้าป่อนประทาน มีฤทธาปราบแพ้ ซวงพ่อแม่กะให้หนี ฝูงพลายผีกะให้พ่าย กูสิไล่ให้สูหนี อย่าได้มาราวีหลานน้อย กูจักปราบให้สูหนีไปจ้อยด้วยพระคาถาว่าสัพพะพุทธานุภาเวนะ สัพพะธัมมานุภาเวนะ สัพพะสังฆานุภาเวนะ สัพพะทุกขา สัพพะภะยา สัพพะโรคา วินาส สันตุ อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง สาธุ


 

 

  

    

 นิทานเรื่อง หนูเหน่งขี้แย

 

วันหนึ่งคุณแม่มาส่งหนูเหน่งที่โรงเรียนแล้วคุณแม่ก็กลับบ้านไป  แล้วอยู่ๆหนูเหน่งก็นั่งลงร้องให้ไม่ยอมหยุด  หนูเก่งเห็นดังนั้นก็เดินมาถาม “ หนูเหน่งๆ  เป็นอะไร  ใครทำหนูเหน่งเหรอบอกหนูเก่งซิจะไปตีให้” หนูเหน่งไม่พูดไม่มองหน้าได้แต่นั่งร้องให้ไม่ยอมหยุด หนูเก่งไม่รู้จะทำอย่างไรเลยวิ่งไปบอกหนูเปียๆมาดูพร้อมกับเอาขนมยื่นให้“หนูเหน่งหยุดร้องให้เถอะมากินขนมกับหนูเปียดีกว่า”หนูเหน่งเงยหน้ามองนิดหนึ่งแล้วก็ร้องให้ต่อไม่ยอมหยุด  หนูเปียเลยเดินหนีไปชวนหนูจุกมาดู หนูจุกนั่งลงและเอาผลไม้ที่ถือมายื่นให้หนูเหน่ง “ หนูเหน่งๆเลิกร้องเถอะมากินส้มกับหนูจุกดีกว่าอร่อยนะ” หนูเหน่งไม่สนใจยังร้องให้ไม่หยุด  เพื่อนๆเลยพากันละอาเดินหนีไปเล่นกันหมดไม่สนใจหนูเหน่งอีกเลย

 

  

  

  

 ชุดกิจกรรมที่ 2. ส่งเสริมความสามารถในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น

 

 2.1) สอนให้ร่วมทำกิจกรรมกับผู้อื่น/การลดพฤติกรรมแปลกแยก

“ผมบ่หลายให้ตื่มซ้อง พี่น้องบ่หลายให้ตื่มเสี่ยว” (ผญา) หมายถึง  ผมไม่ดกให้หาซ้อง(ผมปลอม) มาใส่ ญาติพี่น้องมีไม่มากให้หามิตรสหายมาเพิ่มคำกล่าวนี้มีจุดมุ่งหมายให้คนมีเพื่อน ไม่ต้องการให้อยู่โดดเดี่ยว ญาติพี่น้องมีจำนวนจำกัด มีเท่าไรก็เท่านั้น แต่มิตรสหายหาเพิ่มได้ไม่จำกัดจำนวน การมีเพื่อนหรือการคบหาเพื่อนต้องให้ได้เพื่อนแท้ ชาวอีสานมีประเพณี ผูกเสี่ยว คือการที่คนเพศเดี่ยวกัน วัยเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน นิสัยคล้ายกันมาเข้าพิธีปฏิญาณตนว่าจะเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน ต่อหน้าผู้ใหญ่ที่เป็นญาติมิตร

   

 

อย่าไปอยู่คนเดียวไม่ดีให้มาเล่นกับเพื่อน หมายถึง “มามาหล่า หันหน้ามา เล่นนำหมู่ อย่าไปขดขี่คู่ หันหลังให้หมู่เขา”


  

  

 

       “ไม้ลำเดียวล้อมฮั้วบ่ไขว่ ไพร่บ่พร้อมแปลงบ้านกะบ่เฮือง” (ผญา) หมายถึง ไม้ลำเดียวล้อมรั้วไม่รอบ บ่าวไพร่ไม่ร่วมมือก็ไม่สามารถพัฒนาบ้านเมืองได้  ผญาบทนี้อยู่ในวรรณกรรมเรื่อง ปู่สอนหลาน กล่าวถึงการอยู่ร่วมกันในสังคม การประสานประโยชน์และความสามัคคีทำให้กิจการต่างๆ สำเร็จ เปรียบเทียบการพัฒนาบ้านเมืองเหมือนกับการล้อมรั้ว ชาวอีสานใช้ไม้ล้อมรั้วโดยใช้ไม้แก่นหรือไม้เนื้อแข็งเป็นเสารั้ว ใช้ไม้ไผ่หรือไม้ท่อนยาวเป็นราวรั้ว ไม้ลำเดียวไม่อาจทำราวรั้วล้อมรอบบริเวณได้ฉันใดการพัฒนาบ้านเมืองก็ไม่สำเร็จถ้าประชาชนไม่เห็นด้วยและไม่ร่วมมือ 
 

 


นิทาน ฝูงนกกระจาบ

 กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว  มีฝูงนกกระจาบหลายพันตัวอาศัยอยู่ในป่าแห่งหนึ่ง มีนายพรานคนหนึ่งมีอาชีพจับนกกระจาบขายอยู่เป็นประจำ   วันหนึ่งนกกระจาบจ่าฝูงได้แนะนำนกกระจาบทุกตัว “พวกท่านทั้งหลาย เมื่อถูกตาข่ายนายพรานครอบแล้ว ขอให้ท่านทุกตัวรวมพลังบินขึ้นพร้อมกันทุกตัวแล้วสอดหัวเข้าในตาข่ายใกล้ตัว จากนั้นพวกเจ้าทิ้งตาข่ายไว้แล้วบินหนีไปเสีย    หมูนกกระจาบรับคำ ต่อมาอีกสองวัน ฝูงนกกระจาบ ถูกตาข่ายนายพรานดักพวกมันก็พากันทำอย่างนายหมู่บอกนกทุกตัวสามารถหนีรอดไปได้                                       

อยู่มาวันหนึ่งขณะนกกระจาบออกหากิน มีนกกระจาบตัวหนึ่งบินลงมาจิกอาหารบนพื้นแต่กลับพลาดไปเหยียบถูกหัวนกกระจาบอีกตัวหนึ่ง   นกกระจาบที่ถูกเหยียบหัวโกรธมากทั้งสองจึงทะเลาะกัน  พอผ่านไปได้สองสามวันนายพรานก็มาดักตาข่ายอีกฝูงนกกระจาบได้บินไปติดตาข่ายนายพรานอีกครั้งแต่ครั้งนี้พวกมันไม่พร้อมใจกันบินขึ้น พวกมันมัวแต่ทะเลาะกันและเกี่ยงกันบินขึ้นอยู่อย่างนั้นจนนายพรานมาถึงและจับเอาพวกมันได้นำไปขายอย่างง่ายดาย 

2.2 สอนให้พูดหรือสนทนากับผู้อื่น

 
 “ทั้งหลายเผิ่นแพงซิ้น ปู ปลา ยามอึดอยาก ความปาก ความเว้าบ่ได้ซื้อแพงไว้เฮ็ดอิหยัง” (ผญา) หมายถึง
คนส่วนมากเสียดายเสื้อผ้า ปู ปลา  เวลาไม่มีกินไม่ใช่คำพูด  คนเราไม่ควรจะหวงแหนคำพูด เพราะคำพูดเป็นสิ่งที่ไม่ได้ลงทุนซื้อหามา มันเกิดจากความคิดและปัญญาของเราเอง คิดอะไรอยู่ก็ให้พูดออกมาถ้าเห็นว่าจะเกิดประโยชน์ เมื่อเปรียบเทียบกับทรัพย์สินกันแล้ว ทรัพย์เป็นสิ่งที่ได้มาด้วยการซื้อหรือการหาจึงมีค่า เมื่อได้มาแล้วเจ้าของก็หวงแหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามขาดแคลน คนเราจะหวงแหนอาหารมาก

  “ให้เจ้าจาปากต้าน นำหมู่เขาสา อย่าสิมัวอมนำ คือกับเป็นคนใบ้” หมายถึง ให้พูดกับเพื่อนการไม่พูดก็เหมือนคนเป็นใบ้

  

 

 


 

2.3 สอนให้แบ่งปัน/เสียสละ (ของกิน-ของเล่น)

  “ฟันเฮือไว้หลายลำแฮท่า หม่าเข้าไว้เต็มบ้านทั่วเมือง” (ผญา) หมายถึง จงขุดเรือไว้หลายลำให้พร้อมตามท่าน้ำ จงแช่ข้าวไว้ให้พร้อมที่จะเลี้ยงคนทั้งบ้านทั้งเมือง

  ผญานี้อยู่ในวรรณกรรม เรื่อง เสียวสวาสดิ์ มีความมุ่งหมายให้คนที่เป็นหัวหน้าหรือผู้นำคิดถึงหมู่คณะ ยกตัวอย่างการคมนาคมทางน้ำ ให้เตรียมเรือให้พร้อมไว้ตามท่าต่างๆ จะไปมาเมื่อไรก็สะดวกเกี่ยวกับเรื่องอาหารการกินก็ให้เตรียมข้าวปลาอาหารให้พร้อมสำหรับคนหมู่มาก คนเป็นผู้นำต้องใจกว้าง จะทำการใดก็เผื่อแผ่และนึกถึงผู้อื่นเสมอ การหม่าข้าวเป็นขั้นตอนหนึ่งของการทำข้าวสารให้เป็นข้าวสุก ข้าวเหนียวที่จะนึ่งต้องแช่น้ำก่อนประมาณสามสี่ชั่วโมง ข้าวเก่าแช่นานกว่าข้าวใหม่

 

 

 

“จกข้าวให้ เพื่อนหมู่เขากิน ยามหิวมา สิได้กินภายพุ้น”

               หมายถึง มีของกินให้แบ่งเพื่อนกินด้วย เวลาเราไม่มีกินเพื่อนก็จะแบ่งให้เรากินเหมือนกัน

 

 
 

 “แกงหม้อใหญ่ ไว้เผื่อพี่น้อง อย่าให้พร่อง ก่องข้าวให้เต็ม หมายถึง  ให้เป็นคนใจกว้างโอบอ้อมอารี รู้จักแบ่งปัน

 

 

“ทานบารมี” (พระโพธิญาณเถร : คำสอนหลวงปู่ชา) หมายถึง วันหนึ่งๆ เกิดมาเป็นมนุษย์นั้นให้ได้ทำบุญ อย่างน้อยๆ ก็เอาเมล็ดข้าวให้มดกินก็ได้ เอาให้ไก่กินก็ได้ เราทำทุกๆ วัน พอมีวันหนึ่งไม่มีให้เลย อย่างนี้เรานึกจะทำบุญอะไรหนอ อย่างน้อยไม่มีอะไรจะให้ทาน วันนี้เราก็ทำใจให้สบายที่สุดไม่ให้มันโกรธ ใครจะว่าอะไร ก็ช่างมันเถอะ เราทำใจให้สบายที่สุด จะทำอย่างนี้ก็ได้ 

  

 

นิทานเรื่อง หงส์ทองคำ

 นานมาแล้วพราหมณ์ตระกูลหนึ่งมีภรรยาและลูกสาวสามคนชื่อ นันทา 

 นันทวดี  และสุนันทา  พอลูกสาวทั้งสามมีครอบครัวแล้ว   พราหมณ์ก็เสียชีวิตไปเกิดเป็นหงส์ทองคำที่ระลึกชาติได้  วันหนึ่งได้เห็น ความสำบากของนางพราหมณ์ภรรยาและลูกสาวของตนเองที่ต้องรับจ้าง คนอื่นเลี้ยงตัวหลังจากที่เขาเสียชีวิต  จึงเกิดความสงสาร ได้บินไปจับที่ต้นไม้หน้าบ้านของนางพราหมณ์มณีแล้วเล่าเรื่องราวให้นางพราหมณ์มณีและลูกสาวฟัง นางพราหมณ์แปลกใจมากเมื่อรู้เรื่อง หงส์ทองได้สลัดขนให้กับภรรยาและลูกสาวเอาไว้คนละหนึ่งขน  แล้วก็บินจากไป หงส์ทองยังได้กับมาหาครอบครัวเป็นระยะ มาครั้งใดก็สลัดขนให้ครั้งละหนึ่งขนทุกครั้ง  จนทำให้นางพราหมณ์และลูกสาวมีฐานะร่ำรวยและ มีความสุขขึ้นมาก  ต่อมาวันหนึ่งนางพราหมณ์มณีเกิดความโลภอยากได้มาก กว่าเดิมจึงปรึกษากับลูกๆว่า   “ลูกแม่ ถ้าหงส์กลับมาอีก พวกเจ้าต้องช่วยกันจับหงส์ทองไว้แล้วเราจะถอนขนหงส์ เอาไปขาย เราจะได้ทรัพย์มากๆ  ในคราวเดียว    พวกลูกๆแย้งไม่เห็นด้วย แต่นางพราหมณีไม่สนใจ จนกระทั่ง  หงส์ทองมาอีก นางจึงจับตัวไว้ และจับหงส์ถอนขนจนหมดตัวเก็บเอาไว้ เมื่อกลับมาดูอีกครั้งก็แทบสิ้นสติเมื่อขนเหล่านั้นกลายเป็นขนธรรมดานางพราหมณ์เดื่อดดาลใจมาก เหตุที่เป็นอย่างนั้นเพราะหงส์ทองไม่ได้ให้ด้วยความสมัครใจขนจึงไม่เป็นทอง นางพราหมณ์มณีไม่ละความตั้งใจนางได้เลี้ยงหงส์ทองอีกจนขนงอกขึ้นมาใหม่ แต่หงส์ทองก็ฉลาดพอที่จะบินหนีเอาตัวรอดและไม่กลับมาบ้านหลังนี้อีกเลย  เพราะความโลภมาก ไม่รู้จักเสียสละจึงทำให้นางพราหมณีและลูกๆยากจนเหมือนเดิม 

 

 

2.4 สอนไม่ให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าว

การกราบหรือไหว้ผู้สมควรแก่การกราบหรือไหว้ คือ การกราบ การไหว้ หมายถึง “ให้ขาบไหว้ พ่อแม่ บิดา เห็นพระมา ให้หลีกทางให้” หมายถึง ให้เคารพพ่อ แม่ พระสงฆ์ จะเป็นมงคลต่อชีวิต

 

 

2.5 โทษของการพูดไม่สุภาพ


 “อันอ้อยตาลหวานลิ้นแล้วสิ้นซาก แต่ลมปากหวานหูไม่รู้หาย” 


หมายถึง อ้อย หรือน้ำตาลแม้จะมีความหวาน แต่ก็ไม่ยั่งยืนถาวร และจะต้องหมดหวานในที่สุด เปรียบไม่ได้กับคำพูดที่ไพเราะอ่อนหวาน จะไม่มีวันหมดความหวาน ความไพเราะ

 

“ทุกข์ให้เลี้ยง ปากเกลี้ยงให้ไล่หนี” หมายถึง คนจนให้เลี้ยงไว้   แต่คนปากไม่ดีให้ไล่หนี


 


 

 


“ให้เจ้ายาวๆไว้ คือสายโทรเลข บาดห่ามีเหตุฮ้อน ยังสิได้เผิ่งสาย” หมายถึง ให้ทำดีและเชื่อใจคนอื่นเวลามีเรื่องเดือดร้อนเขาจะได้ช่วยเหลือ

 

 



 




 

 

 

 

 

 

นิทานเรื่อง เดือดร้อนเพราะปาก

ที่สระแห่งหนึ่งมีเต่าตัวหนึ่ง อาศัยอยู่มาช้านาน มีหงส์สองตัว ออกไปเที่ยวหากินยังสระน้ำนั้นเป็นประจำ และสนิทสนมกับเต่าจนเป็นเพื่อนกัน อยู่มาวันหนึ่งหงส์บอกเต่าว่า ที่อยู่ของตัวเองน่ารื่นรมย์ใครๆ ก็อยากอยู่ จึงชวนเต่าไปอยู่ เต่าก็บอกว่าตนบินไม่ได้จะไปอย่างไร หงส์จึงบอกว่าเมื่อท่านอยากไปต้องสัญญาว่า เมื่อข้าพาไปท่านเห็นอะไรก็อย่าได้พูด หงส์ทั้งสองจึงตกลงจะพาเต่าไปทีนี้ก็เอาไม้มา หงส์ตัวหนึ่งจับปลายไม้ข้างหนึ่ง อีกตัวหนึ่งจับปลายอีกข้างหนึ่ง หงส์ก็พาเต่าบินไปกลางอากาศ ในระหว่างทางที่พาเต่าไป ก็มีเด็กเลี้ยงโคกลุ่มหนึ่งเห็นหงส์หามเต่าจึงร้องว่า หงส์หามเต่า เต่าบินไม่ได้ ร้องกันเสียงเซ็งแซ่ เต่าจึงไม่พอใจ จึงอยากจะด่าเด็กนั้นก็ลืมว่าตนอยู่ที่ใด ก็อ้าปากจะด่าเด็กแต่ไม่ได้ด่า  เต่าก็ร่วงลงสู่พื้นดินกระดองเต่าแตกตายไป

  เราคงเห็นแล้วว่าควรพูดในสิ่งที่ควรพูด ในสิ่งที่ไม่ควรพูด ด่า ว่า ก็อย่าไปทำ ควรพูดแต่ในสิ่งที่ไพเราะเท่านั้น 


 

 

 



   

นิทานเรื่อง นางปากเกลี้ยง 

นางปากเกลี้ยงเป็นคนที่ชอบพูดมากปากสว่างพูดไม่คิด ราชาอยากพิสูจน์ภาษิตโบราณที่ว่า “คนขี้คร้านก็ให้เลี้ยงไว้ คนทุกข์คนยากก็ให้เลี้ยงไว้ แต่คนปากเกลี้ยงท่านไม่ให้เลี้ยง” เพราะจะนำความเดือดร้อนมาสู่ตน จึงรับนางปากเกลี้ยงมาไว้ในวัง และกำชับว่าถ้าทำตัวเป็นคนปากเกลี้ยงจริงจะนำไปประหาร นางปากเกลี้ยงรู้ความลับว่า พระราชาหัวโล้น (หัวปก) ตรงกลาง และชอบเสวยรำ นางปากเกลี้ยงจึงไปเล่าให้ต้นไม้ฟัง เพราะเล่าให้ใครฟังไม่ได้ แต่ต้นไม้ต้นนั้น ถูกนำมาตัดทำกลอง พอถูกตีจะส่งเสียง ตุ้ม! รำ ปก...ปก ราชาจึงสอบสวนและรู้ว่ามาจากที่นางปากเกลี้ยงไปพูดให้ต้นไม้ฟัง นางจึงถูกพระราชาสั่งประหาร 

 

 

 

 

 


 

2.6 แก้ไขเรื่องการล้อเลียนผู้อื่น

นิทานเรื่อง ขอข้าวหนูซิง 

ในช่วงผลัดเปลี่ยนฤดูกาลมาถึง สองสหายคือนกต้อยตีวิดกับนกเขาตู้ ขาดแคลนเสบียงอาหารเพราะไม่ได้เก็บสะสมมาตั้งแต่แรก ทั้งยังเป็นหน้าพายุฝน ฝนจึงตกนานติดกันหลายวัน ทั้งสองจึงไปขอแบ่งข้าวจากหนูซิงกิน นกต้อยตีวิด ไปเคาะประตูบ้านถามว่า “เจ้าหนูซิงตาสวด เจ้าผู้หนวดรุ่งริ่ง เจ้าอยู่บ้านนี้หรือเปล่าหนอ” หนูซิงไม่พอใจจึงไม่ยอมให้นกต้อยตีวิดเข้าบ้าน แต่นกเขาตู้เห็นท่าไม่ดีจึงลงไปเคาะประตูพูดว่า “เจ้าหนูซิงตาสวย เจ้าผู้ขนสลวยหนวดงาม พ่อทรามเชยอยู่บ้านหรือเปล่าหนอ” นกเขาตู้จึงได้เข้าไปกินข้าวจนอิ่มท้อง ส่วนนกต้อยตีวิดก็ต้องยืนคอยข้างนอกอย่างเดียวดาย

 

    “กรรมสังโอ้ โอทองสังมาแตก บาดกะโป๋หมากพร้าว สังมาหมั่นกว่าโอ” หมายถึง คนเราไม่เหมือนกันบางคนแต่งตัวดีพูดจาดี กิริยาสุภาพอาจจะเป็นโจรเป็นผู้ร้ายก็ได้ แต่บางคนแต่งตัวมอซอชอบพูดจาไม่ไพเราะแต่จริงๆ แล้วเขาเป็นคนดี หรือคนที่ร่ำรวยอาจเป็นคนไม่ดีก็ได้ คนจนก็เป็นคนดีได้อย่าดูถูกและส้อเลียนเขา

2.7 พัฒนาให้มีความไว้เนื้อเชื่อใจผู้อื่น (รักเพื่อน ไม่กลัวเพื่อน)

 

“ไม้ลำเดียวล้อมฮั้วบ่ไขว่ ไพร่บ่พร้อมแปลงบ้านกะบ่เฮือง” (ผญา)

หมายถึง ไม้ลำเดียวล้อมรั้วไม่รอบ บ่าวไพร่ไม่ร่วมมือก็ไม่สามารถพัฒนาบ้านเมืองได้

  ผญาบทนี้อยู่ในวรรณกรรมเรื่อง ปู่สอนหลาน กล่าวถึงการอยู่ร่วมกันในสังคม การประสานประโยชน์และความสามัคคีทำให้กิจการต่างๆ สำเร็จ เปรียบเทียบการพัฒนาบ้านเมืองเหมือนกับการล้อมรั้ว ชาวอีสานใช้ไม้ล้อมรั้วโดยใช้ไม้แก่นหรือไม้เนื้อแข็งเป็นเสารั้ว ใช้ไม้ไผ่หรือไม้ท่อนยาวเป็นราวรั้ว ไม้ลำเดียวไม่อาจทำราวรั้วล้อมรอบบริเวณได้ฉันใดการพัฒนาบ้านเมืองก็ไม่สำเร็จถ้าประชาชนไม่เห็นด้วยและไม่ร่วมมือ

 

  

“ให้เจ้ายาวๆไว้ คือสายโทรเลข บาดห่ามีเหตุฮ้อน ยังสิได้เผิ่งสาย” หมายถึง ให้ทำดีกับคนอื่นเวลามีเรื่องเดือดร้อนเขาจะได้ช่วยเหลือ

  

 

 


 





2.8 สอนให้เห็นอกเห็นใจผู้อื่น

  “ทานบารมี”  (คำสอนหลวงปู่ชา) หมายถึง วันหนึ่งๆ เกิดมาเป็นมนุษย์นั้นให้ได้ทำบุญ อย่างน้อยๆ ก็เอาเมล็ดข้าวให้มดกินก็ได้ เอาให้ไก่กินก็ได้ เราทำทุกๆ วัน พอมีวันหนึ่งไม่มีให้เลย อย่างนี้เรานึกจะทำบุญอะไรหนอ อย่างน้อยไม่มีอะไรจะให้ทาน วันนี้เราก็ทำใจให้สบายที่สุดไม่ให้มันโกรธ ใครจะว่าอะไร ก็ช่างมันเถอะ เราทำใจให้สบายที่สุด จะทำอย่างนี้ก็ได้


 ชุดกิจกรรมที่ 3. ส่งเสริมวินัย

 
3.1 สอนให้เคารพครู

 “หมกปลาแดกมีครู จี่ปูมีวาด” (ผญา)หมายถึง จะทำหมกปลาร้าต้องมีครูสอน จะเผาปูต้องมีแบบอย่าง 

  สำนวนนี้ชี้ให้เห็นความสำคัญและความจำเป็นของครูและการเรียนจากครูว่า  คนเราต้องมีครูเป็นผู้สอนวิชาความรู้ต่างๆ  แม้แต่การทำอาหารง่ายๆ เช่น หมกปลาแดก และจี่ปู ก็ต้องมีครูสอน ไม่เช่นนั้นอาจจะทำให้ใบตองที่ห่อไหม้จนปลาร้าที่อยู่ในนั้นถูกไฟหรือเปื้อนขี้เถ้าด้วย  การเผาปูดูเหมือนจะง่ายแต่ถ้าทำไม่เป็นก็จะได้ปูไหม้เกรียม ก้ามและขาปูหลุดจากตัว ไม่น่ารับประทาน

 

“ครันได้กินกะปิแล้ว อย่าลืมคุณบั้งปลาแดก บาดห่าเฮาแตกบ้าน ยังสิได้ใส่แกง” หมายถึง ได้ดีแล้วอย่าลืมบุญคุณผู้ที่เคยช่วยเหลือเช่นเดียวกับพระคุณของคุณครูที่คอยสั่งสอนให้ความรู้

 

   

นิทานเรื่อง เสกมะม่วง

    กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้วมีชายหนุ่มคนหนึ่งเดินทางเพื่อไปแสวงโชคระหว่างทางได้เจอกับขอทานที่กำลังหิวโซนอนสลบอยู่ข้างทางจึงช่วยเหลื่อและแบ่งอาหารที่เตรียมมาเพื่อเดินทางให้ชายขอทานกิน เพื่อตอบแทนบุญคุณชายขอทานเลยบอกคาถาเสกมะม่วงให้แก่ชายหนุ่มเมื่อเขาท่องคาถาได้แล้วจึงขอลาชายขอทาน แล้วเดินทางต่อไป ณ เมืองพาราณสี มเหสีของพระราชากำลังตั้งครรภ์ อยากทานมะม่วงมาก  จึงให้เสนาอำมาตย์ไปป่าวประกาศ ใครสามารถนำมะม่วงมาถวายมเหสีของพระราชาได้ จะได้รับรางวัลและแต่งตั้งให้เป็น ราชครู  ชายหนุ่มได้ยินก็ท่องคาถาเสกมะม่วงไปถวาย    เจ้าเมืองจึงถามชายหนุ่มว่าในช่วงนี้ไม่ใช่ฤดูมะม่วงเจ้าได้มะม่วงมาอย่างไร  ชายหนุ่มจึงทูลพระราชาว่าเขาเรียนวิชาเสกมะม่วงมา  พระราชาอยากจะรู้จักอาจารย์ของชายหนุ่มว่าเป็นใคร  ชายหนุ่มจะตอบพระราชาตามความจริงก็อายที่มีอาจารย์เป็นขอทานจึงโกหกพระราชาว่าเรียนมาจากอาจารย์ที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่งพระราชาจึงมอบรางวัลให้และแต่งตั้งให้เขาเป็นราชครู  สองสามวันต่อมามเหสีของพระราชาอยากทานมะม่วงอีกพระราชาจึงสั่งให้ราชครูเสกมะม่วงมาให้อีก เขาจึงท่องคาถาเสกมะม่วงเขาท่องคาถาตั้งหลายครั้งก็ไม่สามารถเสกมะม่วงได้พระราชาโกรธมากจึงสั่งประหารชีวิตเขา

 


 

 


  

 


 

   

3.2 สอนให้เชื่อฟังครู

 “นักปราชญ์ฮ้ายให้หมอบคลาน พนพาลดีให้หนีสิบโยชน์” หมายความว่าถ้าพบนักปราชญ์แม้ว่าจะเป็นคนพูดจาท่าทางดุร้ายน่ากลัวก็ให้หมอบคลานเข้าไปหา แต่ถ้าพบคนพาล แม้พูดจาท่าทางดีก็ให้หนีไกลสิบโยชน์

     ผญาบทนี้สอนให้คบคนดีมีความรู้ และให้หลีกห่างไกลคนพาลแม้ว่านักปราชญ์บางคนมีท่าทางน่ากลัวและพูดจาไม่ไพเราะผู้หวังความเจริญก็ต้องเข้าหาในทางตรงกันข้ามถ้าพบกับคนพาลแม้หน้าตาดี บุคลิกดี แต่งตัวดี พูดจาไพเราะ ก็ให้หลีกห่างไกล

 


 


 

“ตกมาเถิงสมัยเด็กน้อย บ่ยอมเชื่อความคุณครู ตกสมัยชุมจัว ลื่นความเจ้าหัวอ้าย” หมายความว่า เด็กๆทุกวันนี้ไม่เชื่อฟังคำครู  เณรไม่เชื่อฟังคำสอนพระ

 


 





 

 3.3 สอนให้รักษาความสะอาด

 คองสิบสี่  ข้อ4  ข้อ 6 บัญญัติไว้ว่า

- คองสิบสี่ข้อ 4 กล่าวว่า เมื่อจักขึ้นเฮือนนั้นให้ส่วยล้างตีนเสียก่อนจึงขึ้น

- คองสิบสี่ข้อ 6 กล่าวว่า เมื่อจักนอนให้เอาน้ำส่วยล้างตีนก่อนจึงนอน

 

 

 

 

 

นิทานสี่สหายผู้น่ารังเกียจ 

นานมาแล้วมีชายหนุ่ม สี่ คนเป็นเพื่อนรักกันตั้งแต่เด็ก ทั้งสี่คนมีลักษณะแตกต่างกัน คนหนึ่งศีรษะล้าน คนที่สองเป็นขี้กลาก  คนที่สามเป็นขี้เรื้อน  คนสุดท้ายตาทั้งสองข้างนั้นฉ่ำแฉะไปด้วยขี้ตา  ทั้งสี่คนนั้นไม่ชอบทำงานและสกปรก  วันๆเอาแต่เที่ยวเล่นสนุกไป  จนคนในหมู่บ้านเริ่มเบื่อระอายต่างปรึกษาหารือกันว่าพวกเราจะทำอย่างไรดีเพื่อให้ทั้งสี่คนนี้ขยันทำมาหากินและสะอาด   ขณะนั้นมีชายแต่งตัวดีผ่านมาได้ยินเข้าจึงเสนอขึ้นว่าให้พวกเขาไปอยู่ที่นครแห่งโน้นสิ  เขาเล่าว่าใครก็ตามที่ได้เดินทางไปถึงที่นั้นก็จะได้ในสิ่งที่ต้องการ  ชาวบ้านคนหนึ่งจึงพูดว่าแล้วเราจะทำอย่างไรให้สี่คนไปที่นั้นได้ชายแปลกหน้าจึงบอกว่าพวกเราทั้งหมู่บ้านก็เลิกพูดคุยและไม่ให้ความช่วยเหลือคนเหล่านั้น ชาวบ้านก็ทำตามแผน เมื่อไม่มีใครพูดคุยด้วย ชายทั้งสี่คนจึงปรึกษากันว่าจะทำอย่างไรดีชายขี้เรื้อนออกความเห็นว่าควรจะลองไปที่นครแห่งโน้นดู ทั้งสี่คนตกลงเดินทางไปจนถึงท่าเรื่อเจอนายเรือจึงถามทางไปนครโน้นนายเรื่อบอกว่าข้ามฟากไปก็ถึง แต่เรือของเขาไปได้แค่สี่คนรวมกับเขาแต่ถ้าชายทั้งสี่คนจะไปด้วยก็ต้องถอดเสื้อผ้าออกและห้ามพูดให้นั่งนิ่งๆ  ขณะที่ชายทั้งสี่คนนั่งเรือมาชายหัวล้านเมื่อถูกแดดเขาร้อนศีรษะมาก  ชายที่เป็นขี้เรื้อนกับขี้กลากก็คันตามตัวมากส่วนชายที่ตาแฉะก็มีแมลงหวี่มาตอมตาตลอดเวลา  ทั้งสี่คนทนไม่ได้ก็พากันขยับตัวเรือจึงจมลงในแม่น้ำ  ทั้งสี่คนเมื่อตกลงไปในน้ำทำให้ร่างกายของเขาสะอาดหายร้อน หายคัน จึงพากันลอยน้ำไปจนถึงนครแห่งโน้น  พวกเขาตั้งใจทำงานจนร่ำรวย  และหายจากโรคที่เขาเป็น เพราะพวกเขาขยันอาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย  เสื้อผ้าเป็นประจำ


 

3.4 สอนให้รักษาเวลา

“ไกลไปหน้า บ่มีวันสิมาจวบมื้อสืบมื้อ ไปหน้าผัดห่างไกล” หมายความว่า วันเวลาผ่านไปไปข้างหน้าโดยไม่มีวันย้อนคืนมา ยิ่งผ่านนานวันยิ่งไม่มีวันย้อนกลับ ซึ่งถ้าหากคนเราไม่รักษาเวลา ปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปเราจะเสียดายวันเวลาอันมีค่า

 

3.5 สอนให้ประหยัด


 

“กินหน่อยบ่ตาย กินหลายเป็นข่อย”

หมายความว่า กินเพียงเล็กน้อยไม่ถึงกับตาย แต่กินเยอะจะเป็นข้าเป็นทาส 

เป็นการเตือนให้รู้จักจ่ายในการกินให้พอประมาณ  จ่ายมากจะยากนาน  สอนให้ประหยัดจะมั่งมีเงินทองได้ 


“เก็บจากหน่อย คอยไปเติมหมู่ เก็บเทื่อน้อย คอยให้ตื่มเต็ม”

หมายความว่า รู้จักประหยัด  เก็บเล็กผสมน้อย  จะได้มากเอง 

 

มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท  อย่าได้ขาดสิ่งของต้องประสงค์ มีน้อยใช้น้อยค่อยบรรจง อย่าจ่ายลงให้มากจะยากนาน หมายความว่า ควรเก็บหอมรอมริบ แต่หากมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายให้ใช้เท่าที่จำเป็น อย่าใช้จ่ายมากเกินไป จะทำให้ยากจน

 

“เก็บมื้อนี่ คอยกินมื้ออื่นหลายหมื่นพร้อม พอได้เพิงเย็น” หมายความว่า ประหยัดในวันนี้ สุขขีในวันหน้า

  

ชุดกิจกรรมที่ 4. ส่งเสริมการพูดความจริง

4.1 สอนไม่ให้พูดโกหก

 มุสาวาทา เวระมะณี สิกขาปะทังสะมาธิยามิ (ศีลข้อ 4) ห้ามพูดโกหก ส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ  เพราะจะตกนรก

     หมายความว่า นรกของคนพูดมุสา เมื่อตายจากมนุษย์ ไปบังเกิดในนรกขุมนี้  จะถูกยมบาลตัดลิ้น เอาหอกทิ่มแทงปาก

     เมื่อพ้นจากนรกขุมนี้ถ้าได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก คนพูดโกหกจะถูกกล่าวหาด้วยเรื่องไม่จริง คนพูดส่อเสียดจะถูกทำให้แตกขาดจากมิตร คนพูดคำหยาบจะพูดเสียงไม่ไพเราะ เสียงไม่ดี คนพูดเพ้อเจ้อจะไม่มีใครเชื่อถือในคำพูด  จึงไม่ควรพูดโกหก คำหยาบ ส่อเสียดหรือ เพ้อเจ้ออีกต่อไป

  

“เก้าสิเว้าสิบสิเว้า ให้เว้าแต่ความจริงแนวมุสาพาพัง อย่าสินำมาเว้า” หมายความว่า จะพูดอะไรขอให้พูดแต่ความจริงอย่าโกหก



นิทานเรื่อง หลวงพ่อกับเณรน้อย 

ที่วัดแห่งหนึ่ง  มีหลวงพ่อกับเณรน้อยอยู่ด้วยกันในวัดสองคน  วันหนึ่งชาวบ้านมานิมนต์หลวงพ่อไปงานขึ้นบ้านใหม่ในหมู่บ้าน  ก่อนหลวงพ่อจะไปจึงสั่งเณรน้อยให้ไล่ไก่อย่าให้ขึ้นมาขี้ใส่ศาลาเณรน้อยรับคำ  พอหลวงพ่อคล้อยหลังไปไม่นาน  เณรน้อยก็คิดพิเลนขึ้นมา  เอาน้ำอ้อยไปต้มแล้วมาหยอดใส่ศาลาไว้ แล้วนอนรอหลวงพ่อกลับมา  พอหลวงพ่อกลับมาขึ้นไปบนศาลาเห็นน้ำอ้อยที่เณรน้อยยอดเอาไว้ก็นึกว่าเป็นขี้ไก่ ปลุกเณรน้อยขึ้นมาแล้วด่าใหญ่เลย ข้าบอกให้เองไล่ไก่ทำไหมให้ไก่ขึ้นมาขี้ใส่ศาลาเต็มเลยเอ็งมาเลียกินเดี๋ยวนี้เลย เณรน้อยไม่รอช้าก้มหน้าก้มตาเลียกินอย่างอร่อย หลวงพ่อสงสัยจึงถามเณรน้อย  เณรน้อยบอกว่าหวานดีหลวงพ่อลองชิมดูสิ เณรน้อยจึงต้อยขี้ไก่ให้หลวงพ่อซิม เออหวานจริงด้วยวันหลังเอ็งไม่ต้องไล่นะปล่อยให้มันขี้ใส่ข้าจะกินเอง  สองวันต่อมาหลวงพ่อเข้าไปในบ้านอีกไก่ก็ขึ้นมาขี้ใส่จริงๆหลวงพ่อไม่รอช้าต้อยขี้ไก่มากินรสชาติไม่เหมือนวันก่อน  จึงเรียกเณรน้อยมาถามจึงรู้ความจริง   เณรน้อยโดนทำโทษที่หลอกผู้ใหญ่

 

4.2 สอนไม่ให้มีพฤติกรรมโอ้อวด

 

“คันได้นั่งบ้านเป็นเอกสูงศักดิ์ อย่าได้โวๆ เสียงหลื่นคนทังค้าย ซื่อว่าเป็นนายนั้นให้หวังดีดอมบ่าว คันหากบ่าวบ่พร้อมสิเสียหน้าบาดย่างนำ” (ผญา)

หมายความว่า คนสมัยก่อนอบรมสั่งสอนลูกหลานโดยเฉพาะลูกชายว่า ถ้าเป็นใหญ่ในหมู่คนต้องทำตนให้เป็นที่รักใคร่ของหมู่พวกโดยเฉพาะบ่าวไพร่ ไม่ให้คุยโวโอ้อวดทับถมคนอื่น หรือแสดงตนว่าเก่งกว่าคนอื่น ให้มีเมตตาต่อบ่าวไพร่ เพราะบ่าวไพร่คือหน้าตาของผู้เป็นนาย ถ้าบ่าวไพร่แสดงออกดีนายก็ได้หน้าได้ตา ถ้าบ่าวไพร่แสดงออกไม่ดีนายก็เสียหน้า 

 

 

นิทานเรื่อง คางคกจอมโอ้อวด 

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว   สัตว์ทั้งหลายที่อาศัยอยู่ในป่าทุกตัวต่างพูดได้  และรักใคร่ปรองดองกัน  วันหนึ่งมีกระต่ายขาวสวยงามตัวหนึ่งกระโดดเข้าไปในพงหญ้าเพื่อที่จะหาอาหารกินแต่ในพงหญ้านั้นมีฝูงคางคกอาศัยอยู่  กระต่ายจึงร้องให้ฝูงคางคกหลบไปจากบริเวณนี้   คางคกตัวหนึ่งได้ฟังดังนั้นกลัวว่ากระต่ายจะเหยียบย่ำเพื่อนๆของมันจึงพูดโอ้อวดกระต่ายว่า   เราเป็นใหญ่เจ้านั่นแหละออกไปให้พ้นไม่เช่นนั้นจะให้เพื่อนจับเจ้ากินเป็นอาหาร   แล้วหันไปบอกเพื่อนๆว่าวันนี้เรามีอาหารแล้ว  กระต่ายได้ยินก็เกิดความกลัวจะหนีไปก็กลัวจะไปเจอกับดักนายพรานเลยทำใจดีสู้   เจ้าอย่าพูดดีไปเลยเดี๋ยวก็เหยียบให้ตายเลยนี่   คางคกแกล้งตอบไปว่า   มาเหยียบเลยเมื่อวานนี้ข้าได้กินเสือ   วันนี้ข้าได้กินกระต่ายอีกแล้ว   กระต่ายได้ยินดังนั้นเกิดความโมโหเหยียบคางคกตายหลายตัว   ด้วยความกลัวคางคกฉีดน้ำยางพิษใส่ตากระต่ายกระต่ายถอยออกมาด้วยความแสบร้อน    ต่างฝ่ายก็โกรธแค้นกันสุดท้ายก็เลิกรากันไป  ต่อมาวันหนึ่งคางคกจอมโอ้อวดก็ออกไปหาอาหารตามปกติ  คางคกไปเจอกับฝูงมดแดงจึงใช้ลิ้นตวัดกินมดแดงเหล่านั้น มดแดง ก็รวมกันกัดตาคางคกจนคางคกมองไม่เห็นลิ้นเลยตวัดไปโดนถ่านไฟถ้าจะคายถ่านไฟก็กลัวอับอายขายหน้ามดจึงอมเอาไว้ในปากแล้วกระโดดหนีเอาตัวรอด   ขณะนั้นมีเสือตัวหนึ่งกำลังดักจับกระต่ายกินเป็นอาหารแลเห็นคางคกพอดีจึงเอ่ยปากถาม  เจ้าคางคกกำลังทำอะไรอยู่  คางคกกลัวตอบเสือไม่ออกจึงตอบกับไปด้วยความโอ้อวดว่ากำลังกินเนื้อช้างอยู่นะสิ    คางคกอย่างเจ้านะหรือจะกินเนื้อช้างมีหลักฐานหรือเปล่า   คางคกได้ทีจึงคายถ่ายที่อมไว้ให้เสือดู  เสือเห็นจึงเกิดความกลัว  คางคกจึงบอกเสือว่าจะพาไปกินกระต่าย  เสือตกลงขณะที่เดินมาเจอขอนไม้คางคกไม่สามารถข้ามได้  แต่ไม่ยอมรับว่าตนเองข้ามไม่ได้  บอกให้เสือเดินไปก่อน  พอเสือกำลังจะข้ามขอนไม้    คางคกก็กระโดดเกาะหางเสือแต่ด้วยตัวเล็กกระโดดไม่ถึงจึงตกลงมากระแทกตอไม้ตายคาที่ ด้วยความโอ้อวดของตน

 



 

 

“โง่ไว้ก่อน อย่าฟ้าวอวดโต โง่มื้อนี้ ดีหน้าเมื่อลุน” หมายความว่า ทำเป็นโง่ไว้ก่อนอย่าอวดฉลาดต่อไปข้างหน้าจะได้ดี


 “เด็กน้อยมีเงินเฟื้องสองไพก็อยากอวด ผู้ใหญ่มีหมื่นตื้อ ถือไว้บ่อวดไผ” หมายความว่า เด็กน้อยมีเงินนิดหน่อยก็มักโอ้อวด แต่ผู้ใหญ่มีเงินมากมายกลับไม่อวดใคร เป็นการเตือนสติให้รู้จักยั้งคิดถึงสิ่งที่ตนโอ้อวดว่า ยังมีคนที่มีดีมากกว่าเรามากนักซึ่งพวกเขาเองก็ไม่เคยโอ้อวดใคร 

 

  “ลิงไวพ้อไม้ดอก” (ผญา) หมายความว่า   “ลิงตัวที่ปราดเปรียวมักจะเจอกับกิ่งไม้ผุ” ลิงเป็นสัตว์ที่ไปมารวดเร็วคล่องแคล่วทังบนดินและบนต้นไม้แต่มีบ่อยครั้งที่ลิงกระโดดไปเกาะกิ่งไม้ผุแล้วทั้งลิงและกิ่งไม้ก็ร่วงหล่นลงพื้นดินได้รับความเจ็บปวดและอับอาย ใช้เปรียบเทียบกับคนที่ชอบคุยโวโอ้อวดหรือคนที่ชอบแสดงตัวว่าเก่งแล้วไปพบกับคนที่เก่งกว่าหรือเก่งเท่ากันผลที่ได้รับก็คือความเจ็บปวดและอับอายขายหน้า ผญาบทนี้เตือนใจให้คนรู้จักนอบน้อมถ่อมตนไม่แสดงอำนาจเหนือคนอื่น


  

“เด็กน้อยมีความฮู้สองสามความมันกะอ่ง ผู้ใหญ่ฮู้ตั้งล้านกะอำไว้บ่ไข” (ผญา) หมายความว่า คนรู้น้อยควรพูดน้อยและฟังให้มากขึ้น ไม่ควรโอ้อวดคุยโว


  

  

 

   

 

ชุดกิจกรรมที่ 5. ส่งเสริมสมาธิ 

 5.1 สอนให้ตั้งใจเรียน

“คันบ่ออกจากบ้านบ่เห็นด่านแดนไกล คันบ่ไปหาเฮียนกะบ่มีความฮู้”

(ผญา ในเรื่อง ย่าสอนหลาน)หมายความว่า ถ้าไม่ออกจากบ้านก็ไม่เห็นดินแดนห่างไกล ถ้าไม่ไปเล่าเรียนก็ไม่มีความรู้เป็นคำสอนคนหนุ่มให้สร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตโดยการเดินทางและศึกษาเล่าเรียน ในสมัยก่อนผู้หญิงอยู่กับบ้านและทำงานบ้าน ส่วนผู้ชายนอกจากทำงานหลักในไร่นาแล้ว การค้าขายในสมัยก่อนคือการนำสินค้าที่มีอยู่ในหมู่บ้านไปขายหรือแลกเปลี่ยนกับสินค้าที่ตนเองต้องการ เช่น นำเกลือไปแลกฝ้าย นำน้ำผึ้งไปแลกปลาร้า สำหรับสินค้าที่นำไปขายก็มีของป่า เช่น น้ำมันยาง ชัน เร่ว สีเสียด เครื่องหัตถกรรม เช่น ผ้าไหม ผ้าฝ้าย เครื่องเขิน สัตว์เลี้ยง เช่น วัว ควาย การไปค้าขายมีทั้งที่ใช้เกวียนเป็นพาหนะและใช้ขบวนลูกหาบ  การเดินทางไกลไปต่างถิ่นต่างแดนมักกระทำภายหลังฤดูเก็บเกี่ยว บางคณะไปนานจนถึงต้นฤดูฝนจึงกลับมาทำนา หนุ่มอีสานที่ได้ชื่อว่าเป็นชายเต็มตัวต้องเคยเดินทางข้ามเทือกเขาดงพญาไฟ (ปัจจุบันคือดงพญาเย็น) ไปยังที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยา หรือเดินทางข้ามแม่น้ำโขงไปยังประเทศลาว

 ผญาบทนี้ยังสะท้อนให้เห็นความคิดของคนอีสานที่ถือว่าความรู้เป็นสิ่งที่ต้องศึกษาเล่าเรียนและการศึกษาเล่าเรียนจะต้องไปแสวงหาตามสำนัก หรือแหล่งของผู้รู้

 

“บ่เฮียนบ่ฮุ้  บ่ดูบ่เห็น บ่เฮ็ดบ่เป็น หมายความว่า ถ้าไม่เรียนก็ไม่รู้ ไม่ดูไม่เห็น ไม่ทำไม่เป็น


5.2 สอนให้มีความต่อเนื่องในการสนใจกิจกรรมในชั้นเรียน

“เรียนสิ่งใดใคร่รู้ เร่งให้มีเพียร” (โคลงโลกนิติ) หมายถึง  

ปลูกต้นไม้หมั่นรดน้ำ  จำเริญ 

ดักลอบอย่าเหมิดเมิน       หมั่นกู้ 

เกี้ยวชู้ชอบเพียรเดิน         สารสื่อ 

เรียนสิ่งใดใคร่รู้           เร่งให้มีเพียร 

  นักเรียนต้องจดจ่อที่จะเรียนรู้ว่าวันนี้ครูจะสอนอะไร  วันพรุ่งนี้เรื่องอะไร  และหมั่นทบทวนเสมอว่าที่ผ่านมาครูสอนอะไร แล้วจะเข้าใจและสนุกกับกิจกรรมในชั้นเรียน





 

Advertising Zone    Close

Online: 1 Visits: 27,310 Today: 5 PageView/Month: 7

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...