ศูนย์ศึกษาการเมืองท้องถิ่นอีสาน

http://tomsarayoot.siam2web.com/
 

ศูนย์ศึกษาการเมืองท้องถิ่นอีส

 

1.ความเป็นมาและความสำคัญ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ ที่รู้จักกันในนามภาคอีสานเป็นภาคที่กล่าวได้ว่าเป็นที่สุดในหลายเรื่องของประเทศไทย อาทิ เป็นภาคที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ที่สุด มีจำนวนจังหวัดมากที่สุด มีจำนวนประชากรมากที่สุด เป็นต้น

                นอกจากนั้น ภาคอีสานยังมีความโดดเด่นมีเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของตนเองในหลายๆ เรื่อง กระนั้น ภาคอีสานก็มักจะเป็นภาคที่ถูกลืม เป็นภาคที่ผู้คนมักจะจดจำได้ในไม่กี่เรื่อง นั่นเป็นเพราะ องค์ความรู้ที่เกี่ยวกับอีสานยังมีการศึกษาในวงจัด จึงทำให้ภาพลักษณ์ของอีสานถูกสร้างจากฐานข้อมูลจำนวนจำกัด และบ่อยครั้งเป็นข้อมูลที่ผิวเผินจึงส่งผลให้การรับรู้ของความเป็นอีสานในสายตาของคนทั่วไป มีลักษณะจำกัดและผิวเผินตามไปด้วย เช่น เป็นภาคที่มีการซื้อเสียงมาก รับรู้เพียงว่าภาคอีสานไกลมาก ร้อนมาก แร้นแค้น ยากจนมาก ผู้คนขาดสารอาหารและดั้งหัก เป็นต้น

                ด้วยเหตุนี้ วิทยาลัยการเมืองการปกครองมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในฐานะองค์กรทางวิชาการที่ตั้งอยู่ใจกลางของภาคอีสาน จึงเล็งเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องมีการจัดตั้ง “ศูนย์ศึกษาการเมืองท้องถิ่นอีสาน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำหน้าที่ในการสร้างองค์ความรู้ และแสวงหาข้อเท็จจริง (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มิติด้านการเมืองการปกครอง) เกี่ยวกับ “อีสาน” ให้เป็นไปอย่างรอบด้านมากยิ่งขึ้น โดยหวังว่าด้วยข้อมูลและองค์ความรู้ที่เพิ่มมากขึ้น จะทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจของสาธารณชนต่อ “อีสาน” ที่ถูกต้อง รอบด้าน และชัดเจนมากขึ้น

                ทั้งนี้ ศูนย์ศึกษาการเมืองท้องถิ่นอีสาน ได้พัฒนาขึ้นมาจากศูนย์ข้อมูลการเมืองท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภายใต้ความรับผิดชอบของคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ซึ่งตั้งขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2538 จากนั้น เมื่อมีการจัดตั้งวิทยาลัยการเมืองการปกครองใน พ.ศ.2546 จึงได้มีการนำศูนย์ข้อมูลการเมืองท้องถิ่นเข้ามาอยู่ในความรับผิดชอบของวิทยาลัยการเมืองการปกครอง และปรับเปลี่ยนเป็นศูนย์ศึกษาการเมืองท้องถิ่นอีสานเป็นต้นมา

 2.วัตถุประสงค์

  1. เพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลทางวิชาการ ที่เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลพื้นฐาน และองค์ความรู้เกี่ยวกับภาคอีสาน โดยเฉพาะด้านการเมืองการปกครอง
  2. มุ่งเน้นการศึกษาวิจัยและการให้บริการทางวิชาการด้านการเมืองการปกครองในพื้นที่ภาคอีสาน

 3.ผลงาน

-          จัดทำโพลการเลือกตั้งทั่วไป ปี 2550 โดยสำรวจผลการเลือกตั้งล่วงหน้าในพื้นที่ภาคอีสาน ครอบคลุม 120 อำเภอ 19 จังหวัด 52 เขตเลือกตั้ง (6,527 กลุ่มตัวอย่าง)

-          เป็นที่ปรึกษาดำเนินโครงการสำรวจความพึงพอใจต่อการให้บริการแก่ประชาชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดมหาสารคามและกาฬสินธุ์

-          ดำเนินการตรวจสอบทางสังคม (Social Audit) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผ่านกลไกการขับเคลื่อนของศูนย์ฯ กล่าวคือ สภาเยาวชนเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น โดยความสนับสนุนจากสถาบันพระปกเกล้า

4.กลไกการขับเคลื่อนของศูนย์ฯ

“สภาเยาวชนเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น”

        1.ที่มาและความสำคัญ

ภายหลังการกระจายอำนาจที่มากขึ้น บทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการกำหนดและดำเนินนโยบายสาธารณะมีอย่างกว้างขวาง ครอบคลุมมากกว่าครึ่งหนึ่งของบริการพื้นฐานที่ประชาชนในท้องถิ่นหนึ่งๆ พึงจะได้รับ ทั้งที่เป็นบทบาทโดยตรงที่กฎหมายระบุให้อำนาจหน้าที่ไว้และที่เป็นบทบาทในฐานะที่ไปเป็นหน่วยงานหนุนเสริมหรือร่วมมือกับหน่วยงานอื่นในการให้บริการ

ทั้งนี้ พร้อมไปกับความกว้างขวางของบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการกำหนดและดำเนินนโยบายสาธารณะนั้น กระแสธรรมาภิบาลและประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม รวมถึง แบบปรึกษาหารือก็เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางเช่นกัน ซึ่งกระแสดังกล่าวผลักให้การกำหนดและดำเนินนโยบายของท้องถิ่นต้องคำนึงถึงความโปร่งใสและบทบาทของประชาชนในท้องถิ่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

กระนั้นก็ดี ในทางปฏิบัติกลับพบว่า หน่วยการปกครองและบริหารจัดการขนาดเล็กนี้ ยากที่จะถูกตรวจสอบโดยองค์กรใดองค์กรหนึ่งได้อย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ ทำให้การดำเนินนโยบายที่ขาดธรรมาภิบาล การมีส่วนร่วม และการปรึกษาหารือที่แท้จริงเกิดขึ้นทุกหัวระแหง และยากที่จะปฏิเสธได้ เช่นนี้ การแสวงหากลไกทางสังคมเพื่อเข้ามาตรวจสอบท้องถิ่นจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อร่วมพัฒนาให้หน่วยการปกครองและการจัดบริการสาธารณะในรูปนโยบายต่างๆ ซึ่งมีขนาดเล็กนี้ สามารถเป็นความหวังของการแก้ปัญหาและการพัฒนาในยุคสมัยใหม่ได้ 

อย่างไรก็ตาม ความอ่อนแอของการเมืองภาคพลเมืองในระดับของการตรวจสอบการเมืองและการบริหารงานในท้องถิ่นของตนเองถูกตั้งคำถามมาโดยตลอด เคียงคู่กับประวัติศาสตร์การปกครองท้องถิ่นของไทย โดยเฉพาะในยุคสมัยใหม่ที่มนุษย์กลายเป็นมนุษย์เศรษฐกิจมากกว่ามนุษย์การเมือง กล่าวคือ ดิ้นรนในปัญหาความไม่พอมีพอกินหรือความไม่พอเพียงของตน มากกว่าการสนใจเรื่องสาธารณะ หรือ การเข้าไปข้องเกี่ยวกับพื้นที่ทางการเมือง แม้นว่าพื้นที่เหล่านั้นจะถูกเปิดมากขึ้นกว่าในอดีตมากก็ตาม ทั้งในแง่ของการเปิดให้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง และเปิดให้เข้ามาสู่เวทีการปรึกษาหารือ  (สะท้อนผ่านรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550) ทำให้เกิดอุปสรรคต่อการแสวงหากลไกทางสังคมที่มีพลังและความต่อเนื่องเพื่อเข้ามาตรวจสอบการเมืองและการบริหารงานท้องถิ่น 

พร้อมกันนั้น สำหรับการแสดงบทบาทของเยาวชนในฐานะพลเมืองก็ถูกตั้งคำถามถึงเช่นกัน ทั้งในแง่ของความหวังและความน่าเป็นห่วง กล่าวคือ ความหวังว่าจะเป็นพลังบริสุทธิ์ในการพัฒนาการเมืองและการบริหารของประเทศทั้งระดับชาติและท้องถิ่น และความน่าเป็นห่วงว่าจะหลงใหลไปกับโลกหรรษาและบันเทิง จนลืมใช้ปัญญาและพลังอย่างสร้างสรรค์ 

                จากข้างต้น มิสามารถจะกล่าวโทษใครได้อย่างเจาะจงแต่อย่างใด กล่าวคือ เยาวชนมีทั้งที่ตื่นตัวแต่ขาดเวทีที่เหมาะสม และมีทั้งที่หลับใหล ทว่า สามารถตื่นขึ้นมาได้ หากได้รับการกระตุ้นที่ดี ดังนั้น แนวคิดในการสร้างสภาเยาวชนจึงเกิดขึ้น บนฐานความเชื่อมั่นที่ว่าสภาเยาวชนน่าจะสามารถเป็นทั้งเวทีและยากระตุ้นที่ดีดังกล่าวได้ ด้วยเหตุนี้ จึงได้ริเริ่มโครงการวิจัยนี้ขึ้น เพื่อทดลองดึงพลังเยาวชนที่มีอยู่แล้ว ให้ออกมาสร้างสรรค์ และรับผิดชอบต่อสังคม โดยเฉพาะท้องถิ่นที่เยาวชนอาศัยหรือคลุกคลีอยู่ให้มากกว่าที่เป็นอยู่ ผ่านเวทีการแสดงออกที่เหมาะสมอย่างสภาเยาวชน 

                ทั้งนี้ โครงการนี้ พยายามปรับกรอบการศึกษาการตรวจสอบโดยสังคม (Social Audit) ของ CIET International (Community Information and Epidemiological Technology) มาใช้ (มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย, 2548) โดยให้ภาคประชาสังคมในลักษณะของสภาเยาวชนเป็นผู้ตรวจสอบการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อให้เกิดการบูรณาการการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งการตรวจสอบที่นำไปสู่การพัฒนาดังกล่าว อยู่ในรูปแบบของการมีคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ หรือคณะทำงานลงไปเก็บรวบรวมข้อมูล (หลายระดับ) พร้อมทั้งวิเคราะห์ข้อมูลขั้นต้น แล้วนำมาเสนอในที่ประชุมสภา โดยที่สมาชิกสภา จะขบคิดหรือวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสุดท้ายร่วมกัน ก่อนที่จะจัดทำรายงานข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเสนอต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อการปรับปรุงการดำเนินนโยบาย ซึ่งกระบวนการติดตามการปรับปรุงการดำเนินนโยบายจะต้องเกิดขึ้น และพร้อมที่จะมีการทวงถามภายในระยะเวลาและเงื่อนไขอื่นๆ ที่เหมาะสม

                อนึ่ง โครงการนี้เป็นการสานต่อโครงการนำร่องสภาเยาวชนเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยสถาบันพระปกเกล้า ปีงบประมาณ 2552 โดยดำเนินการภายใต้ศูนย์ศึกษาการเมืองท้องถิ่นอีสาน วิทยาลัยการเมืองการปกครอง อันเป็นการขยายผลเพื่อจะนำไปสู่การสังเคราะห์แนวคิด ทฤษฎี โดยจะส่งผลต่อการนำไปประยุกต์ใช้กับการพัฒนาท้องถิ่นให้เกิดความยั่งยืนในภาพรวมต่อไป

     2.โครงสร้าง

ประธานสภาเยาวชน

ศูนย์ประสานงานสภาเยาวชน     ที่ปรึกษาและกำกับดูแลคุณภาพสภาเยาวชน

เลขานุการสภาเยาวชน

กรรมาธิการเศรษฐกิจชุมชน

กรรมาธิการสังคม

กรรมาธิการวัฒนธรรมภูมิปัญญาและสิ่งแวดล้อม

กรรมาธิการการเมืองและการบริหาร

กรรมาธิการโครงสร้างพื้นฐาน

สมาชิกสภา สมาชิกสภา สมาชิกสภา สมาชิกสภา สมาชิกสภา

คณะทำงาน 

 

        3.ภารกิจ

1.)  ร่วมพัฒนาท้องถิ่นทั้งในมิติการเมือง การบริหารจัดการ โครงสร้างพื้นฐาน สังคม วัฒนธรรม ภูมิปัญญาชาวบ้าน สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจชุมชน

2.)    เก็บรวบรวมข้อมูลพื้นฐานต่างๆ เกี่ยวกับการเมืองและการบริหารงานท้องถิ่น

3.)  สร้างกระบวนการการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างเยาวชนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในประเด็นปัญหา สาเหตุ แนวทาง และทางเลือกเชิงนโยบายที่เหมาะสมในการพัฒนาท้องถิ่น

4.)  เสริมสร้างศักยภาพและความตระหนักของเยาวชนในการแสดงบทบาทเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดอ่าน และการสรุปบทเรียนในสภา รวมทั้ง การสร้างข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

 4.กระบวนการดำเนินงานของสภาเยาวชนเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น

1. ตั้งคณะทำงาน (ซึ่งมีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนกัน)

2. ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูล/ ตั้งข้อสังเกตเพื่อการตรวจสอบ

3. วิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น

4. นำเสนอข้อมูลต่อสภาและสมาชิกสภาร่วมกันวิพากษ์/ ให้ความเห็นวิพากษ์

5. สภาวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสุดท้ายร่วมกัน

6. เสนอแนะต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

7. ตั้งประเด็นในการตรวจสอบผ่านสภา

 

 

Advertising Zone    Close

Online: 1 Visits: 27,309 Today: 4 PageView/Month: 6

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...